ดำน้ำสกูบ้า ด้วยเทคนิคการควบคุม Buoyancy

ดำน้ำสกูบ้า ด้วยเทคนิคการควบคุม Buoyancy

ทักษะควบคุมการลอยตัว หรือการควบคุม Buoyancy (การลอยตัว) ถือเป็นกุญแจสำคัญในการดำน้ำสกูบ้า หากเรามีการลอยตัวที่ดี ก็จะส่งผลไปยังทักษะอื่นๆ ให้ดีขึ้นตามไปเช่นกัน ทั้งตำแหน่งและการเคลื่อนไหวใต้น้ำจะสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ควบคุมการใช้อากาศได้ดีขึ้น และยังส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมและแนวปะการัง นักดำน้ำมือใหม่อาจจะรู้สึกว่าการควบคุมการลอยตัวเป็นเรื่องยาก เดี๋ยวก็จมลง เดี๋ยวก็ลอยขึ้น ไม่อยู่ตรงกลางสักที พอเติมลมเข้า BCD บางทีก็ลอยสูงเกินไป พอยิ่งพยายามเตะขาหรือใช้มือแหวกว่ายก็ยิ่งเหนื่อยหายใจถี่ทำให้ควบคุมการลอยตัวยากกว่าเดิม อีกทั้งยังเสี่ยงที่จะไปโดนปะการังอีกด้วย ฯลฯ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เราสามารถแก้ไขให้การลอยตัวของเรานั้นดีขึ้นได้ เพียงแค่เรียนรู้วิธีและฝึกฝนทักษะ วันนี้เลยมีเทคนิคเคล็ดไม่ลับ เพื่อช่วยให้การควบคุม Buoyancy ในขณะดำน้ำสกูบ้าของเพื่อนๆ ให้ดีขึ้นมาฝากกัน

สกูบ้า 5 เคล็ดไม่ลับ ในการควบคุม Buoyancy

1. น้ำหนัก

เป็นสิ่งแรกที่ส่งผลต่อการควบคุมการลอยตัว เราควรตรวจสอบน้ำหนักที่จะใช้ในการดำลงไปใต้ทะเล ซึ่งสภาพแวดล้อมและอุปกรณ์ต่างๆ ก็ส่งผลต่อการเลือกน้ำหนัก ไม่ว่าจะเป็นวัสดุและขนาดของถังอากาศ ,Wetsuit (สูทดำน้ำ),สภาพน้ำ ฯลฯ เราควรเลือกน้ำหนักที่เหมาะสม ไม่ควรใช้น้ำหนักที่มากเกินไป ถึงแม้ว่าการที่ใช้น้ำหนักมากจะทำให้ตัวเราสามารถจมลงไปใต้ทะเลได้ง่ายขึ้น แต่ก็จะยากต่อการควบคุมและใช้แรง ใช้อากาศมากขึ้นไปด้วย ซึ่งวิธีการเช็คน้ำหนักที่เหมาะสมกับเราสามารถเช็คได้ง่ายๆคือ ใส่อุปกรณ์ทุกอย่างลงไปในน้ำลึกที่เราไม่สามารถยืนได้ ตั้งตัวตรงอยู่ในท่ายืน ปล่อยลมออกจาก BCD หายใจเข้าแล้วกลั้นหายใจไว้ ระดับน้ำควรจะอยู่ที่ระดับสายตาของเรา เมื่อเรารู้ว่าน้ำหนักที่เหมาะสมกับเราอยู่ที่เท่าไหร่ ให้เราจำไว้เพื่อนำไปใช้ในการดำน้ำสกูบ้าครั้งต่อๆ ไป จะสะดวกต่อการเลือกน้ำหนักที่ควรใช้ และอย่าลืมว่าถังอากาศเมื่อท้ายๆ ไดฟ์หรือใกล้จบไดฟ์ อากาศในถังที่น้อยลงจะทำให้ถังเบาและลอยขึ้น

2. ชุดดำน้ำ

วัสดุและความหนาของชุดดำน้ำที่ใส่ก็ส่งผลต่อการเลือกน้ำหนัก ยิ่งชุดที่มีความหนามากจะทำให้ตัวเราลอยมากขึ้น ดังนั้นเราจึงต้องเลือกจำนวนน้ำหนักให้เหมาะสมกับชุดที่เราสวมใส่

3. BCD (Buoyancy control device)

หรืออุปกรณ์ควบคุมการลอยจม อากาศที่เราปล่อยหรือเติมเข้าไปใน BCD ก็ส่งผลต่อการลอยตัว ควรที่จะปล่อยหรือเติมอากาศไปทีละน้อยๆ รอเวลาสักครู่ให้ส่งผล ไม่ควรเติมอากาศมากเกินไปเพราะจะเสี่ยงต่อการลอยขึ้นไปอย่างรวดเร็วและอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ขณะปล่อยลมออกจาก BCD ถ้าปล่อยลมทาง inflator ควรอยู่ในท่าตั้งตัวตรงขึ้นและชูสายให้อยู่ด้านบนเพื่อไม่ให้อากาศติดอยู่ใน BCD และมองหรือฟังเสียงว่ามีฟองอากาศออกมาหรือไม่ หรือต้องการปล่อยลมทาง dump valve ควรอยู่ในท่านอนและกระดกก้นขึ้นเพื่อให้อากาศสามารถไหลออกได้

4. การหายใจ

การหายใจถือเป็นหลักสำคัญที่ส่งผลอย่างมากในการควบคุม Buoyancy ขณะดำน้ำสกูบ้าปอดของคนเรายังทำหน้าที่เป็นเหมือนลูกโป่งอีกอันที่คอยควบคุมตัวเราให้ลอยหรือจมได้ หากเราต้องการที่จะลงไปข้างล่าง ให้เราหายใจออกยาวๆ จะช่วยให้อากาศในปอดเราเหลือน้อยและตัวเราจะจมลงไปได้ง่าย แต่ถ้าอยู่ชิดกับพื้นมากเกินไปหรือต้องการขึ้นมาเล็กน้อยให้เราหายใจเข้าเพื่อเพิ่มอากาศเข้าไปในปอดและลอยขึ้นมา ควรหายใจเป็นปกติอย่างต่อเนื่อง ลองตรวจสอบดูว่าขณะหายใจเข้าและออกตัวเราลอยหรือจมอย่างไร และไม่ควรกลั้นหายใจขณะดำน้ำสกูบ้า เพราะนอกจากจะเกิดอันตรายแล้วยังส่งผลต่อการควบคุม Buoyancy ทำให้ตัวเราลอยขึ้นไปอีกด้วย

5. ตำแหน่งของร่างกาย

ท่าทางการดำน้ำก็ส่งผลอย่างมากในการควบคุมการลอยตัวควรจะจัดตำแหน่งของร่างกายอยู่ในแนวนอน ขนานไปกับพื้น เพื่อเวลาเราเตะฟินจะได้เคลื่อนที่ไปด้านหน้า ขาไม่ควรจะอยู่ต่ำกว่าตัวหรืออยู่สูงกว่าตัวเพราะหากเราอยู่ในท่ายืน หัวตั้งขึ้นแล้วเตะฟิน จะทำให้ตัวของเราลอยขึ้นไปด้านบน อีกทั้งยังเสี่ยงที่ฟินจะไปโดนปะการังด้านล่าง หรือเตะทรายให้ฟุ้งขึ้นมาอีกด้วย ไม่จำเป็นต้องใช้แขนหรือมือเพราะแรงส่วนมากมาจากขา การที่เราใช้แขนจะทำให้เสียแรงและใช้อากาศมากขึ้นกว่าเดิม

6. ผ่อนคลาย

พยายามอย่าวิตกกังวลหรือทำให้เกิดความเครียด หากเราเกิดความเครียดอาจส่งผลให้เราหายใจถี่ขึ้น ซึ่งจะทำให้การควบคุมการลอยตัวของเรานั้นยากขึ้นไปด้วย

เมื่อรู้เทคนิคดีๆ แล้ว ลองเอาไปทำดู สังเกตตัวเองขณะดำน้ำสกูบ้ากันนะคะ ทั้งนี้ทั้งนั้นหากเราฝึกฝน และทำบ่อยๆ ประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น ก็จะช่วยให้เราพัฒนา การควบคุม buoyancy และการดำน้ำของเราก็จะดีขึ้นในทุกๆ ไดฟ์ แล้วจะพบว่าการดำน้ำไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ทั้งได้ความสนุกเพลิดเพลิน ผ่อนคลายขึ้นอีกด้วย หากใครไม่ได้ดำน้ำสกูบ้านาน ลืมเรื่องการลอยตัวหรือสกิลต่างๆ ไปแล้ว สามารถติดต่อกับเราลง Refresher มารื้อฟื้นสกิลต่างๆ ของการดำน้ำสกูบ้าได้ค่ะ และถ้าพร้อมออกไปท่องโลกใต้ทะเลแล้ว สามารถสอบถาม จองทริปกับทาง Amity ได้เลย มีทั้ง One day trip และ Liveaboard เลยค่า

Chat with us
via WhatsApp