มาดูเคล็ดลับการเลือกซื้ออุปกรณ์ดำน้ำกัน ต้องรู้อะไรบ้าง (EP. 1)

เคล็ดลับการเลือกซื้ออุปกรณ์ดำน้ำ

แนะนำการเลือกซื้ออุปกรณ์ดำน้ำ แบบฉบับ  Heart Sale ไม่ใช่ Hard Sale Ep.1

หลังจากมหกรรมงานดำน้ำแห่งชาติผ่านไป มีโอกาสได้พบเจอกับพี่ๆน้องๆ มาขอคำแนะนำก่อนซื้ออุปกรณ์ดำน้ำแต่ละชิ้นกันมากมาย เราเลยขอรวบรวม คำแนะนำจากครูสอนดำน้ำแต่ละท่านของเราที่ผ่านมาเยอะเจ็บมาเยอะจากประสบการณ์ตรง แต่วันนี้เราจะเจ็บแต่จบกันแล้วทุกคน

คำเตือน!! บทความนี้จะยาวหน่อย แต่คุ้มค่าแก่เวลา หากคุณกำลังคิดจะเอาเงินมาลงที่ทะเล  เพื่อไม่ให้เสียใจทีหลัง จะมีคำแนะนำอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย!!

เลือกอ่าน การเลือกซื้ออุปกรณ์ดำน้ำ

– หน้ากากดำน้ำ

– ตีนกบ (Fins)

– Dive computer

– เว็ทสูท (Wet suit)

– BCD

Regulator

1. หน้ากากดำน้ำ

อุปกรณ์ดำน้ำชิ้นแรกที่นักดำน้ำส่วนใหญ่มักมีเป็นลำดับแรกๆ คือ หน้ากากดำน้ำ หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า มาส์ก (Mask) เพราะหน้ากากดำน้ำ เป็นอุปกรณ์ดำน้ำชิ้นไม่ใหญ่ สามารถนำใส่ในกระเป๋า/เป้ เดินทางได้

การเลือกหน้ากากดำน้ำให้เหมาะสม พอดีกับสรีระหน้าเรานั้นเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอย่างแรก ก่อนที่จะเลือกแบบตามดีไซน์/สี/แฟชั่น สีสัน รูปทรงดีไซน์ที่ถูกใจ อาจจะไม่เข้ากับรูปหน้า ทำให้ดำน้ำไม่สนุก หรืออาจนำไปสู่การเกิดปัญหาใต้น้ำได้ มาทำความรู้จักหน้ากากดำน้ำเบื้องต้นกันก่อน  แบบหลักๆ มี 2 แบบ คือ

1) แบบเลนส์คู่ ( 2 เลนส์)  มีหลากหลายแบบหลายสไตล์ แล้วแต่แบรนด์

  • สามารถเปลี่ยนเป็นเลนส์สายตาได้
  • ทัศนวิสัยจะแคบกว่าแบบเลนส์เดียว (ที่กำลังจะพูดถึงถัดไป) เนื่องจากถูกกั้นกลางด้วยขนาดของบริเวณช่องว่างตรงจมูก โน๊สพ๊อกเก็ต (Nose Pocket)
  • มีแบบขอบยางบางๆ (low profile) เหมาะกับการดำน้ำแบบฟรีไดฟ์ เมื่อพื้นที่ในหน้ากากน้อยปริมาตรอากาศในหน้ากากที่น้อยตาม จะทำให้ง่ายสำหรับการเคลียร์น้ำออกจากหน้ากาก

2) แบบเลนส์เดียว   มีหลากหลายแบบหลายสไตล์ สีสัน แล้วแต่แบรนด์ 

  • ทัศนวิสัยกว้างกว่า ง่ายต่อการมองเห็น ถ่ายรูปสวย เห็นหน้าผู้ใส่อย่างชัดเจน

การเลือก (ลอง)หน้ากากดำน้ำ ควรเริ่มจาก

– เลือกแบบของเลนส์ 

– ไซส์ของหน้ากาก

– ความหนาของซิลิโคน low profile 

แบรนด์ก็อาจจะมีผลกับการเลือกด้วย เพราะแบรนด์ของอุปกรณ์ดำน้ำส่วนใหญ่เป็นของยุโรปจึงทำให้ ขนาดของหน้ากาก ไม่เหมาะกับหน้าชาวเอเชียอย่างเรา ส่วนใหญ่คือขนาดของบริเวณโน๊สพ็อกเก็ต ปัจจุบันมีแบรนด์จากฝั่งเอเชียที่ผลิตออกมาเพื่อชาวจมูกเล็กแบบเราๆ ชาวเอเชีย เมื่อเลือกแบบได้แล้วควรลองทาบหน้ากากกับหน้าเราด้วย โดยเก็บผมแล้วก้มหน้าทาบหน้ากากกับหน้าไม่ต้องใส่สายรัดเข้าศีรษะ หายใจเข้านิดนึง กดหน้ากากเข้ากับหน้าเบาๆ แล้วกลั้นลมหายใจนิดนึงหน้ากากควรดูดติดอยู่กับหน้าเราได้พอดีเป็นเพราะสุญญากาศภายในหน้ากาก แนะนำให้ซื้อ Mask Strap Cover ที่เป็น Neoprene มาสวมเข้าไปด้วยเพื่อป้องกันผมติดพันกับสายรัดได้

อย่างไรก็ตามการเลือกหน้ากากให้เหมาะกับหน้าเรานั้น สิ่งสำคัญคือควรได้ลองและสัมผัสอุปกรณ์จริงก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะลักษณะของหน้าและศีรษะแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนบริเวณรอบขมับแคบ หรือริมฝีปากบาง/หนา ล้วนมีผลกับการเลือกหน้ากากของเราทั้งสิ้น

2. ตีนกบ (Fins)

สิ่งสำคัญแรกที่เราต้องคำนึงถึง คือลักษณะการใช้งานของเรา เช่น  เราชอบที่จะดำน้ำผิวน้ำแบบ Snorkeling ว่ายกลับเรืออย่างรวดเร็ว ก็อาจเลือกใช้ Fins ประเภท Full-Foot ที่มีน้ำหนักเบา ขนาดเล็ก และกระชับกับเท้า แพ็คกระเป๋าเดินทางง่าย มีราคาถูกและก็ไม่ต้องซื้อรองเท้าบูทเพิ่มด้วยนะ แต่การใช้งานใต้น้ำก็จะไม่ค่อยสู้กระแสน้ำซักเท่าไหร่ ซึ่งหากเราต้องการซื้อ Fins เพื่อการดำน้ำลึกแบบ Scuba การเลือกใช้ Fins แบบ Full-Foot นั้น ก็อาจจะไม่สามารถมอบประสิทธิภาพสูงสุด เหมือนกับการเลือกใช้ Fins ประเภท  Open-Heel แต่ต้องใส่ Fins คู่กับบูท เพื่อช่วยให้ความอบอุ่นแก่เท้าในขณะดำน้ำ ที่ต้องใช้เวลาใต้น้ำนานกว่า และอุณหภูมิใต้น้ำก็เย็นกว่าการดำน้ำแบบ  Snorkeling  การใช้ Fins แบบ Open-Heel ยังง่ายต่อการสวมใส่ และถอดออก เมื่อเราต้องใส่ชุดดำน้ำและแบกถังอากาศที่มีน้ำหนักค่อนข้างมากอยู่ด้านหลัง การใส่บูทยังช่วยป้องกันเท้าของเราจากการบาดเจ็บต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินบนเรือ การปีนขึ้นบันไดเรือ หรือแม้แต่การเดินบนชายหาด

การเลือก Fins นั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือลักษณะของตัวใบพาย โดยลักษณะของตัวใบพายที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป คือ แบบ paddle ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดและเราสามารถพบเห็นค่อนข้างบ่อยเวลาออกทริป Fins แบบ paddle มีใบพายลักษณะเรียบแผ่นเดียว สามารถใช้กับท่าการตีขาได้ทุกท่าและยิ่งให้ประสิทธิภาพสูงสุงเมื่อใช้ท่าการตีขาแบบ Frog Kick การเลือกใบพายที่มีขนาดสั้นก็จะช่วยให้เราเคลื่อนไหว เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา หรือถอยหลังได้ง่าย เหมาะแก่การดำน้ำที่ต้องการการทรงตัวที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพใต้น้ำ หรือการดำน้ำในซากเรือจมและการดำน้ำในถ้ำ แต่หากเราต้องการการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยความเร็ว การเลือกใบพายขนาดยาวก็จะให้แรงเคลื่อนที่ได้ดีกว่า เหมาะกับการตีขาแบบ Flutter kicks ซึ่งเราสามารถพบเห็นได้จากนักดำน้ำแบบ Freediving ที่ใช้ Fins แบบตัวใบพายยาว แบบยาวมากๆ ซึ่งเมื่อยาวมากก็ไม่เหมาะกับการดำน้ำแบบ Scuba

หากคุณเลือกใช้ Fins แบบ Open-Heel ก็อย่าลืม พิจารณาสายรัดข้อเท้า ของ Fins รุ่นนั้นๆ ให้ดีว่า วัสดุที่ใช้ทนทานต่อการใช้งานหรือไม่ ยิ่งถ้าเป็นพลาสติกก็อาจจะแตกหักง่าย อาจจะต้องมองหาอะไหล่สำรอง ยิ่งถ้าหากอยู่ระหว่างออกทริปดำน้ำ การไม่มีอะไหล่สำรองก็จะทำให้เกิดปัญหาได้ นักดำน้ำบางคนจึงเลือกใช้สายรัดข้อเท้าที่เป็น สายสปริง แข็งแรงทนทานและเมื่อสวมใส่สามารถถอดเข้าออกได้ง่าย การเลือก Fins ของคุณอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับการให้ความเร็ว การควบคุมบังคับทิศทาง หรือประสิทธิภาพในการใช้งานเป็นหลัก แต่อาจเลือกจากสีสัน ความสวยงาม รูปแบบ หรือการออกแบบดีไซน์ในสไตล์ต่างๆ ดังนั้นหากคุณต้องการเลือกซื้อ Fins สักคู่เป็นของตัวเอง สิ่งสำคัญที่สุด คือการได้ลองใส่และทดลองใช้จริงก่อนการตัดสินใจ 

เลือกซื้อ Dive computer

3. Dive Computer

คอมพิวเตอร์ดำน้ำ เป็นอุปกรณ์ประจำตัวนักดำน้ำที่มีขนาดเล็กพกพาสะดวก ที่แนะนำว่าทุกคนจะต้องมีทุกครั้งในการดำน้ำ เป็นอุปกรณ์บอก ความลึก(Depth), เวลาจำกัดที่สามารถดำน้ำได้ที่ความลึกนั้นๆ (NDL), และอัตราความเร็วขณะขึ้นสู่ผิวน้ำ (Ascent Speed) เพื่อสามารถดูแลตัวเองขณะดำน้ำได้อย่างสนุกและปลอดภัย ซึ่งนั่นเป็นความรับผิดชอบของนักดำน้ำทุกคน ยิ่งปัจจุบัน Dive computer หลายๆ รุ่น ยังเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานให้สามารถใช้ได้ในกิจกรรมอื่นๆ เช่น การดูแลสุขภาพ อัตราการเต้นของหัวใจ เป็นต้น มีดีไซน์ที่สวยงาม สามารถสวมใส่ใช้งานได้ในชีวิตประจำวันได้ทุกวัน

มาดู 6 ข้อสำคัญที่ช่วยให้เราเลือก Dive computer ที่ดีให้เราดำน้ำได้อย่างสนุกและปลอดภัย

1) หน้าจอต้องแสดงผลได้ชัดเจนในทุกข้อมูลที่สำคัญๆ ในสภาพแวดล้อมที่มีแสงจ้าหรือมืดสนิท

2)  มีโหมดการดำน้ำที่จำเป็นต้องใช้ครบถ้วน (เช่น Air, Nitrox, Free Dive, Gauge, Tech, Log Dive)

3) ใช้งานง่ายในการปรับตั้งเมนู และดูบันทึกการดำน้ำ4) แบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนาน สามารถส่งเซอร์วิสได้ง่ายและรวดเร็วหากต้องเปลี่ยน ส่วนรุ่นที่สามารถชาร์ทแบตเตอรี่ได้ ต้องใช้งานได้ยาวนานต่อการชาร์ท 1 ครั้ง หลีกเลี่ยงไม่ให้ แบตเตอรี่หมดก่อน หรือขณะดำน้ำ

4) แบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนาน สามารถส่งเซอร์วิสได้ง่ายและรวดเร็วหากต้องเปลี่ยน ส่วนรุ่นที่สามารถชาร์ทแบตเตอรี่ได้ ต้องใช้งานได้ยาวนานต่อการชาร์ท 1 ครั้ง หลีกเลี่ยงไม่ให้ แบตเตอรี่หมดก่อน หรือขณะดำน้ำ

5) แข็งแรง ทนทาน ดูแลรักษาง่าย

6) ความน่าเชื่อถือและมีมาตรฐานของผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย การรับประกัน รวมถึงความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการหลังการขายอีกด้วย

Options เสริมที่น่าสนใจ เพื่อเป็นตัวเลือก เช่น ความสามารถในการเชื่อมต่อกับ Smartphone หรือ Computer, Transmitter ที่ใช้เชื่อมต่อเพื่อวัดความดันอากาศในถังดำน้ำ, เซนเซอร์วัดชีพจรและค่าออกซิเจนในเลือด, หรือ โหมดกิจกรรมกลางแจ้งอื่นๆ ที่เหลือก็คือความสวยงามที่เราชอบ แต่ก็ยังแนะนำให้อยู่บนพื้นฐาน 6 ข้อที่กล่าวมาข้างต้น

4. เว็ทสูท (Wetsuit)

เว็ทสูทถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายและป้องกันแมงกระพรุน ปะการังบางชนิด เพราะฉะนั้นวันนี้เรามาดูวิธีการเลือกเว็ทสูทที่เหมาะสมกับเรากัน การเลือกเว็ทสูทนั้นอันดับแรกต้องคำนึงถึงขนาดร่างกาย เว็ทสูทต้องพอดี ไม่หลวมไปไม่แน่นจนเกินไปและต้องมีความยืดหยุ่นพอให้ร่างกายขยับได้สะดวก โดยเว็ทสูทแบ่งเป็นสามแบบคือ

1) แบบเต็มตัว

2) แบบแขนสั้นขาสั้น

3) แบบครึ่งตัว (แยกระหว่างชุดกับกางเกง)

หลังจากที่ได้เว็ทสูทรูปแบบที่ต้องการแล้วต่อไปเรามาดูความหนาที่เหมาะสมกับการใช้งานกัน โดยความหนาของเว็ทสูทจะช่วยให้ความอบอุ่นได้คนละแบบกัน ยกตัวอย่าง เช่น 1-2 มม. สามารถป้องกันแสงแดด แมงกะพรุนได้ แต่ไม่เหมาะกับน้ำที่อุณภูมิต่ำกว่า 28°C ลงไป

3-5 มม. เหมาะสำหรับน้ำที่อุณภูมิต่ำกว่า 21°C ลงไป ไม่เหมาะกับการนำมาดำที่อุณภูมิสูงๆเพราะจะร้อนเกินไป

7 มม. เหมาะสำหรับน้ำที่อุณภูมิต่ำกว่า 16°C ลงไป ซึ่งในประเทศไทยไม่มีจุดที่อุณภูมิต่ำขนาดนั้นส่วนมากต้องเดินทางไปดำน้ำต่างประเทศ

ซึ่งหลายๆ คนอาจสับสนเวลาไปซื้อเว็ทสูทแล้วเจอตัวเลข 3/2 มม. ตัวเลขแรกคือความหนาระหว่างอกส่วนตัวเลขที่สองคือความหนาที่แขนและขา

ความหนาเว็ทสูทที่เหมาะสมกับอุณหภูมิน้ำ

2 MM. > 29°C

3 MM. 21°C ถึง 28°C

5 MM. 16°C ถึง 20°C

7 MM. 10°C ถึง 20°C

ถ้าหากคุณดำน้ำเย็นมากกว่านี้ก็แนะนำให้ใช้ ดรายสูท (dry suit)ในการดำน้ำ พูดถึงการตัดชุดในกรณีที่คุณไปเลือกเว็ทสูทที่ร้านดำน้ำต่างๆ มีแบบสำเร็จรูปแล้วมันไม่เหมาะกับคุณเราก็สามารถสั่งตัดใต้ ข้อดีของการสั่งตัดคือเราสามารถออกแบบเองได้หมดไม่ว่าจะเป็นสี ชนิดของผ้ารวมไปถึงความหนาของผ้าและยังสามารถเลือกตำแหน่งของซิปได้อีกด้วย

เลือกซื้อ Wetsuit

5. BCD (Buoyancy Control Device)

ที่นิยมใช้มีอยู่ 2 แบบ คือ Jacket  และ Wing

1) Jacket BCD เป็นที่นิยมใช้ในการสอนของโรงเรียนดำน้ำที่พวกเราเคยใช้ หรือให้เช่า  ลักษณะของ BCD จะเหมือนกับเสื้อชูชีพ มีให้เลือก Size แล้วแต่ขนาดของตัวแต่ละคน ส่วนสายรัดแทงค์ มี1 สายใหญ่ รัดแทงค์ไว้ 1 จุด และมีสายเล็ก สำหรับคล้องคอ แทงค์อีก 1 จุด ส่วนที่ใส่ตะกั่ว บางรุ่นสามารถใส่ใน Jacket ได้เลย ส่วนบางรุ่นไม่มี จำเป็นต้องมีสายเข็มขัดเพื่อร้อยตะกั่ว Jacket BCD มีหลาย ดีไซน์หลายยี่ห้อที่พัฒนาขึ้นตามยุคสมัยและความต้องการของนักดำน้ำ

2) Wing BCD เป็นที่นิยมสำหรับนักดำน้ำหลายๆคน  ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของสรีระ ไม่ว่าจะเป็นเด็กอายุ 10 ปี น้ำหนัก 35 กิโล ไปจนถึงผู้ใหญ่ ที่มีน้ำหนักแตะ 100 กิโล ก็สามารถปรับตามขนาดได้ ส่วนสายรัดแทงค์ จะมี 2 สาย บนล่าง ทำให้การผิดพลาดอย่างแทงค์หลุดออกจาก BCD แทบจะไม่เกิดขึ้น ส่วนที่ใส่ตะกั่ว จะติดอยู่ที่ BCD สะดวกสบาย และลดปัญหาลืมใส่ Weight Belt ก่อนลงน้ำได้อีกด้วยนะ

Wing BCD ถอดแยกชิ้นได้ หากเกิดชำรุดเสียหาย เราสามารถเปลี่ยนเฉพาะส่วนที่เสีย ไม่ต้องซื้อใหม่ทั้งตัว  อีกทั้งปัจจุบัน Wing  BCD หลายๆ ค่าย ก็มีสีสันให้เลือกมากมาย

แนะนำโดยรวมทั้ง Jacket BCD และ Wing BCD มีการใช้งานที่คล้ายๆ กัน ต่างกันตรงดีไซน์ รูปแบบและฟังก์ชั่นต่างๆ ข้างต้น ควรลองหาสิ่งที่เราใส่แล้วช่วยเสริมทักษะการลอยตัว เสริมความมั่นใจรู้สึกปลอดภัย และอย่าลืมเช็คประกันสินค้าและบริการหลังการขาย แต่ละค่ายแต่ละร้านก่อนซื้อเพื่อความคุ้มค่าระยะยาวด้วยล่ะ

6. Regulator

อุปกรณ์ชิ้นหลักที่นักดำน้ำ Scuba ขาดไม่ได้ จะปลอดภัยหรือผ่อนคลายสบายใจก็ขึ้นอยู่กับ Regulator นี่แหละ แต่ก็มีตัวเลือกมากมายในโลกการดำน้ำ จนทำให้หลายคนสับสน และปวดหัวว่าจะเลือกอย่างไรดี

1) Valve Connector (ระบบที่ต่อกับวาล์ว) มี 2 แบบคือ DIN กับ Yoke

  • DIN มีลักษณะเป็นเกลียวตัวผู้ และมี O-ring  ใช้ขันเข้ากับวาล์วถังอากาศ ด้วยขนาดของ O-ring ที่มีขนาดใหญ่และเกลียวขันเข้าไปในวาล์วทำให้สามารถรับแรงดันได้ถึง 300 Bar หากใช้กับถังเหล็กและวาล์วแรงดันสูง จึงเป็นที่นิยมใช้กันทั่วโลก รวมถึง O-ring ที่ติดอยู่กับตัว Regulator ที่นักดำน้ำดูแลด้วยตัวเอง ทำให้ลดปัญหาอากาศรั่วที่จุดนี้
  • Yoke มีลักษณะเป็น clamp บีบ Regulator เข้ากับวาล์ว เป็นที่นิยมในเขตเอเชีย ที่สามารถรับแรงดันได้ 235 Bar เพียงพอกับ มาตรฐานแรงดันของถังอากาศอลูมิเนียมที่นิยมในเอเชียเช่นกัน แต่เราก็ควรเช็ค O-ring ที่เสื่อมสภาพที่วาล์วทุกๆ ครั้งก่อนใช้งาน

2) ระบบ Regulator ซึ่งจะขอพูดรวมๆ ทั้ง First Stage และ Second Stage

  • UNBALANCE Regulator เป็นระบบพื้นฐานในการปรับแรงดัน และจ่ายอากาศให้นักดำน้ำหายใจได้ ข้อดีของระบบนี้คือ มีราคาถูก บำรุงรักษาง่ายและถูก แต่มีข้อจำกัดที่จะจ่ายอากาศและหายใจยากขึ้น เมื่อใช้ที่ความลึกที่มากขึ้นและเมื่อความดันอากาศในถังเหลือน้อยลง แต่ก็ยังใช้งานได้อย่างปลอดภัย
  • BALANCE Regulator เป็นระบบที่พัฒนาให้สามารถหายใจได้อย่างสบายได้ตลอดเวลา จ่ายอากาศคงที่ ไม่ว่าจะดำน้ำที่ความลึกขึ้น หรือความดันอากาศในถังเหลือน้อยลง ทำให้มั่นใจได้ในการดำน้ำในทุกสภาพแวดล้อม ไม่ว่าที่ความลึก, กระแสน้ำที่แรง, อุณหภูมิที่หนาวเย็น ถึงแม้ว่าจะมีราคาที่สูงกว่า แต่ก็คุ้มค่ากับความปลอดภัยและผ่อนคลายทุกครั้งที่อยู่ใต้น้ำ

3) Octopus หรือ Alternate Air Source

เครื่องช่วยหายใจสำรอง สำหรับเราเองหากตัวหลักมีปัญหา และสำหรับบัดดี้หรือคนอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือในยามฉุกเฉิน ที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าตัวหลัก เพราะฉะนั้นควรใส่ใจเลือกที่มีคุณภาพที่ดีด้วยเหมือนกัน

4) SPG (Submersible Pressure Gauges) มาตรวัดแรงดัน

แนะนำวัสดุที่ผลิตจากโลหะจะมีความแข็งแรงกว่า ที่สำคัญต้องสามารถมองเห็นมาตรวัดได้ชัดเจน เพราะเราต้องคอยเช็คความดันอากาศอยู่บ่อยๆ เพื่อวางแผนการดำน้ำ และให้มั่นใจได้ว่าอากาศเพียงพอจนจบการดำน้ำ

5) Hoses สายอากาศ

หลักๆ แล้วมีให้เลือกอยู่ 2 ประเภทคือ สายยาง (Rubber) กับ สายถัก (Flex)

สายยางจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า แต่แข็งและมีสีสันที่น้อยกว่า ส่วนสายถักจะมีความอ่อน คืนตัวได้มากกว่า และมีสีสันให้เลือกมากกว่า แต่ก็แลกกับอายุใช้งานที่สั้นกว่าเล็กน้อย และหากสายหัก,งอ,พับ อากาศจะไหลผ่านได้ยาก จึงควรเลือกแบรนด์ที่ได้มาตรฐานและน่าเชื่อถือ เพื่อลดปัญหาเหล่านั้น

เลือกซื้อ BCD

หากให้แนะนำ Regulator ที่คุ้มค่า และใช้งานได้อย่างสบายใจ ควรเลือกที่เป็นแบบ DIN valve – Balance Regulator บวกกับ DIN to Yoke Adaptor เพื่อการใช้งานได้ทุกที่ และทุกการผจญภัยในทุกสภาพการดำน้ำ และที่สำคัญควรเลือกแบรนด์ที่เชื่อถือได้ มีมาตรฐาน สามารถส่งตรวจเช็คเซอร์วิสได้ง่ายและรวดเร็วได้ในทุกๆ ที่ เพื่อการดำน้ำได้อย่างปลอดภัยและสนุกในทุกๆ ไดฟ์

6 ชิ้น Key หลักสำคัญผ่านไปแล้ว ขอสรุปโดยรวมที่ทางเราพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเแบรนด์ /ผู้จำหน่าย/ คุณภาพ/ลักษณะการใช้งาน/สรีระของแต่ละคนมีผลกับการเลือกซื้ออุปกรณ์ดำน้ำเป็นของตัวเอง ควรศึกษาคำแนะนำหรือไปลองก่อนตัดสินใจซื้อเพื่อความคุ้มค่าในระยะยาว หากท่านใดที่ต้องการคำแนะนำลงลึกเพิ่มเติมหรือสอบถามราคา ส่วนลด สามารถติดต่อเข้ามาได้ทุกช่องทาง แม้ไม่ซื้อกับเราก็ไม่เป็นไร ยินดีให้คำปรึกษา แต่ขอบอกว่า Shop Amity มีดีลส่วนลดและอุปกรณ์ดีๆ ให้ลองยก Shop กันไปเลย!!

เจอกันใหม่ Ep.หน้านา…

 

Chat with us
via WhatsApp