มารู้จักประเภทของการดำน้ำกัน ว่ามีอะไรบ้าง

ประเภทของการดำน้ำ

การดำน้ำชมธรรมชาติใต้ทะเลเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ผู้คนในปัจจุบันให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นกิจกรรมสันทนาการที่ให้ความเพลิดเพลิน ผ่อนคลายแล้ว ยังมีประเภทของการดำน้ำที่ถือเป็นเชิงกีฬาการแข่งขันอีกด้วย วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับประเภทของการดำน้ำกันว่ามีอะไรบ้าง

การดำน้ำสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลักๆ ดังนี้

1. การดำน้ำตื้น (Snorkeling)

2. ฟรีไดฟ์วิ่ง (Freediving)

3. การดำน้ำลึก (Scuba diving)

การดำน้ำตื้น (Snorkeling)

การดำน้ำตื้น หรือที่เรียกกันว่า Snorkeling เรามักคุ้นชินกันเป็นอย่างดี เมื่อเวลาไปเที่ยวทะเลต่างๆ มักจะมีทริปดำน้ำตื้นดูปะการัง โดยทุกคนสามารถดำน้ำตื้นได้แม้จะว่ายน้ำไม่เป็น เพราะเราจะใส่ชูชีพเพื่อความปลอดภัยและให้เราลอยตัวอยู่ผิวน้ำ การดำน้ำแบบ Snorkeling มักอยู่ที่ระดับความลึกของน้ำไม่เกิน 9 เมตร เพื่อจะได้เห็นแนวปะการังในระยะที่ไม่ไกลจนเกินไป

อุปกรณ์ในการดำน้ำแบบ Snorkeling

1. หน้ากากดำน้ำ (Mask) ใช้สำหรับมองใต้น้ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าจมูกและตา ควรเลือกหน้ากากที่ขนาดพอดีและกระชับกับใบหน้า ตอนสวมใส่ควรตรวจสอบไม่ให้มีเส้นผมเข้าไปในหน้ากาก เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะเลเข้าไปภายในหน้ากาก

2. ท่อหายใจ (Snorkel) เป็นท่อที่เราคาบไว้ขณะดำน้ำเพื่อหายใจผ่านปาก โดยปลายท่ออีกด้านจะอยู่บนผิวน้ำเพื่อดูดอากาศมาใช้หายใจ

3. เสื้อชูชีพ (Life jacket) เป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยและให้เราลอยตัวอยู่บนผิวน้ำได้

การดำน้ำตื้นหรือ Snorkeling เป็นกิจกรรมที่ทุกคนสามารถทำได้ ไม่ต้องมีใบรับรอง (Certificate) หรือผ่านการเรียนมา สามารถหาทริปกับทางบริษัททัวร์ต่างๆ ได้ทันที โดยทางบริษัททัวร์จะมีอุปกรณ์ดำน้ำและสอนวิธีการใช้งานอุปกรณ์ให้ก่อนการดำน้ำ จะมีไกด์เพื่อคอยพาเราไปชมปะการังตามจุดต่างๆ และคอยดูแลความปลอดภัย

ดำน้ำ Snorkeling

ฟรีไดฟ์วิ่ง (Freediving)

การดำน้ำแบบ Freediving เป็นการดำน้ำที่เราใช้เพียง 1 ลมหายใจในการลงไปใต้น้ำ ซึ่งไม่ได้ใช้อุปกรณ์ในการช่วยหายใจ เน้นการใช้ร่างกายและจิตใจเท่านั้น Freediving นอกจากจะเป็นกิจกรรมสันทนาการและเป็นกีฬาที่มีการแข่งขันจัดขึ้นทั่วโลกแล้ว ยังเป็นเสมือนส่วนหนึ่งของชีวิต เครื่องมือทำมาหากินของผู้คนในบางพื้นที่อย่างเช่นชาวบาจาว (Bajau) ที่อาศัยอยู่ริมฝั่งของประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย พวกเขาใช้ชีวิตอยู่กับท้องทะเล หาปลา หาอาหารเพื่อดำรงชีพโดยการดำน้ำลงไปตัวเปล่า Freediving จึงเป็นเสมือนส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขา ในปัจจุบันผู้คนหันมาสนใจกิจกรรม Freediving เพื่อการสันทนาการ (Recreational Freediving) กันมากขึ้น มักใช้กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมยามว่างเมื่อไปท่องเที่ยวทะเล เพราะได้สัมผัสใกล้ชิดกับธรรมชาติ เสมือนเป็นหนึ่งเดียว ได้รับความรู้สึกที่เงียบ สงบ เพราะจะไม่มีแม้กระทั่งเสียงลมหายใจแบบการดำน้ำ scuba จะมีแค่เพียงเสียงจากน้ำ และธรรมชาติใต้ทะเลที่โอบกอดตัวเราเท่านั้น อีกทั้งไม่ต้องแบกอุปกรณ์อะไรไปเยอะ มีเพียงอุปกรณ์ไม่กี่ชิ้นก็สามารถดำน้ำได้

อะไรคือกีฬาดำน้ำฟรีไดฟ์ (Competitive Freediving)

ผู้คนส่วนมากมักเข้าใจว่าการดำน้ำ Freedive เป็นเพียงการกลั้นหายใจแล้วลงไปใต้น้ำ แต่ไม่รู้ว่าการดำน้ำแบบ Freediving จัดเป็นกีฬาประเภทเอ็กซ์ตรีมอีกด้วย มีการจัดการแข่งขันขึ้นทั่วโลกเพื่อทำสถิติในรายการต่างๆ โดยการแข่งขันที่ผู้คนมักลงแข่ง จะแบ่งเป็นประเภท ดังนี้

Static Apnea (STA)

คือการนอนคว่ำหน้าบนผิวน้ำนิ่งๆ ไม่ขยับร่างกาย และจับเวลาในการกลั้นหายใจ

Dynamic With Fins (DNY/DNYB)

เป็นการดำน้ำในแนวนอน (Horizontally) เพื่อแข่งในการทำระยะความไกลด้วยการลงไป 1 ลมหายใจ โดยใช้ใบฟินหรือโมโนฟิน ในการแข่งขัน Dynamic จะจัดการแข่งขันในสระว่ายน้ำ

Dynamic Witout Fins (DNF)

เป็นการดำน้ำในแนวนอนเพื่อทำระยะเหมือนกับ DNY แต่จะต่างกันตรงที่ไม่ใส่ฟิน นักกีฬาจะใช้เพียงแขนและขาในการดำน้ำ

Free Immersion (FIM)

นักกีฬาจะลงไปใต้น้ำในความลึกโดยไม่ใส่ฟิน แต่จะใช้มือดึงเชือกในการขึ้นและลง

Constant Weight with Fins (CWT/CWTB)

เป็นการทำระยะความลึกในแนวดิ่ง โดยใช้ใบฟินหรือโมโนฟิน ในการแข่งขันประเภท Constant

Constant Weight Without Fins (CNF)

เป็นการทำระยะในความลึกเหมือนกับ Constant Weight With Fins แต่จะต่างกันที่ไม่ใส่ฟิน

Variable Weight (VWT)

การแข่งประเภทนี้นักกีฬาจะลงไปในความลึกด้วยการถ่วงด้วยน้ำหนักของวัตถุ และกลับขึ้นมาบนผิวน้ำโดยการตีฟินกลับขึ้นมาบนผิวน้ำ

No Limit (NLT)

เป็นการแข่งที่นักกีฬาจะลงไปในความลึกโดยการถ่วงลงไปกับอุปกรณ์ในระยะเวลาที่เร็ว และกลับขึ้นมาโดยอุปกรณ์ขับเคลื่อน เช่น การเติมแก๊สเข้าไปในลูกบอลลูน เพื่อให้บอลลูนขยายตัวแล้วกลับขึ้นมาบนผิวน้ำ

ดำน้ำ Freediving

อุปกรณ์สำคัญในการดำน้ำแบบ Freediving

  1. หน้ากากดำน้ำ (Mask)

หน้ากากดำน้ำของฟรีไดฟ์จะต้องเลือกใช้แบบ Low volume ซึ่งจะมีปริมาตรอากาศภายในหน้ากาก (air space) น้อยกว่าของ Scuba ทำให้ใช้อากาศในการปรับแรงดัน (Equalize) เพื่อเคลียร์หน้ากากน้อย เพราะเมื่อลงไปในระดับความลึกเพิ่มขึ้น ความดันใต้น้ำที่มากขึ้น จะทำให้หน้ากากจะบีบกดหน้าเรา จึงจำเป็นที่จะต้องทำการเคลียร์หน้ากาก หากเราใช้หน้ากากแบบ scuba จะทำให้เราใช้อากาศในการเคลียร์หน้ากากมากกว่า

  1. ท่อหายใจ (Snorkel)

เป็นท่อที่เราไว้หายใจเหมือนกับการดำแบบ Snorkeling ไว้หายใจเมื่ออยู่บนผิวน้ำ

  1. ตีนกบ (Fins)

ฟินเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยผ่อนแรงในการเคลื่อนไหวในน้ำ ทำให้เราออกแรงน้อย แต่สามารถไปในระยะที่ไกลกว่าเดิม ฟินฟรีไดฟ์แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ Monofin จะมีลักษณะใบฟินเป็นแผ่นเดียว ติดกับตัวรองเท้า2ข้างที่ Custom ตามขนาดลักษณะเท้าของเรา ขนาดของใบจะขึ้นอยู่กับสรีระร่างกายผู้สวมใส่ ส่วนล่างของลำตัวจะขยับไปพร้อมกันคล้ายกับโลมา โมโนฟินมักใช้ในการแข่งขันกีฬาฟรีไดฟ์ Bi-fins (Dual fins) ลักษณะเป็นฟิน2ข้างแบบที่เราเห็นทั่วไป จะมีความยาวโดยประมาน 79-97 เซนติเมตร ซึ่งใบฟินฟรีไดฟ์จะแบ่งออกเป็น 3 วัสดุหลักๆ คือ

  • พลาสติก (Plastic)  มีราคาถูก ทนทานต่อการเสียหาย ดูแลรักษาง่าย แต่มีความแข็ง หนัก และแรงดีดน้อยที่สุด
  • ไฟเบอร์กลาส (Fiberglass) จะมีราคาที่สูงขึ้นมาจากพลาสติก ถือเป็นวัสดุคุณภาพกลาง มีน้ำหนักเบากว่าและแรงดีดที่มากกว่าฟินพลาสติก แต่ความทนทานน้อยกว่า
  • คาร์บอนไฟเบอร์ (Carbon fiber) เป็นวัสดุที่ประสิทธิภาพดีที่สุด น้ำหนักเบา แรงดีดสูง แต่เปราะบางและราคาแพงที่สุด  นอกจากการเลือกวัสดุของใบฟินแล้ว เรายังต้องคำนึงถึงการเลือกความยืดหยุ่น(stiffness) ของใบฟินให้เข้ากับสรีระร่างกายและสมรรถนะของผู้สวมใส่

อยากดำน้ำแบบ Freediving ต้องทำอย่างไร ?

สำหรับผู้ที่อยากลงไปใต้น้ำด้วย 1 ลมหายใจ ถึงแม้ว่าอาจจะฟังดูง่าย แค่กลั้นหายใจแล้วลงไปใต้น้ำ แต่จริงๆ แล้วการดำน้ำแบบ freediving มีมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการปรับแรงดัน การหายใจ การควบคุมจิตใจ ฯลฯ หากไม่ได้รับการเรียนรู้อย่างถูกต้อง สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนั้นเราควรจะฝึกฝนกับครูผู้เชี่ยวชาญเพื่อการดำน้ำอย่างปลอดภัยและถูกวิธี ในปัจจุบันมีโรงเรียนสอนดำน้ำต่างๆให้เลือกหลายสถาบัน แล้วหลักสูตรของแต่ละสถาบันที่มีเปิดสอนในไทยแตกต่างกันอย่างไร ?

Aida – สถาบันก่อตั้งขึ้นในปี 1992 เป็นระบบการศึกษาฟรีไดฟ์วิ่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก และจะมีการจัดการแข่งขันแบบสากล สถาบัน Aida จะเน้นทั้งทางด้านกีฬา การแข่งขัน และการเรียนรู้ คอร์สเรียนของ Aida จะแบ่งเป็น 4level โดยเราสามารถเริ่มเรียนจากเลเวล 1 หรือ 2 ก็ได้ (เลเวล 1 จะเป็นการเรียนเบสิคในสระว่ายน้ำ ไม่มีการออกสอบภาคทะเล และไม่มีข้อกำหนดบังคับในการทำสกิล) แต่เลเวล2 จะมีการออกสอบภาคทะเล และต้องผ่านข้อกำหนดบังคับต่างๆ (Requirements)

Padi – เป็นสถาบันดำน้ำที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1966 โดยเริ่มจากการดำน้ำ Scuba เป็นสมาคมดำน้ำสันทนาการที่ใหญ่ที่สุด สอนทั้ง Scuba และ Freedive คอร์สเรียนของ Padi จะแบ่งเป็น 3level คือ Freediver, Advanced Freediver, Master Freediver

SSI – เป็นสถาบันดำน้ำที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1970 มีเปิดสอนทั้งการดำน้ำ Scuba และ Freedive มีหลักสูตรเสริม(Optional)ให้เลือกเรียนหลายหลักสูตร คอร์สเรียนของ SSI จะแบ่งเป็น 3level

Molchanov – ก่อตั้งเมื่อปี 2015 โดย Alexey Molchanov ผู้เป็นเจ้าของสถิติโลกกว่า 19 รายการ โดยรวบรวมเนื้อหาพัฒนาหลักสูตรจาก Russian Freediving Federation ที่แม่ของเขา Natalia Molchanov เป็นผู้ก่อตั้ง คอร์สเรียนของ molchanov จะแบ่งเป็น 4ระดับ (4 wave)

แต่ละสถาบันจะมีเนื้อหา ทฤษฎีในหลักสูตรการสอนของแต่ละเลเวลที่คล้ายกัน จะแตกต่างกันที่ราคาคอร์สเรียน ข้อบังคับต่างๆ (Requirement) ในการสอบ และวิธีการสอน ถ่ายทอดความรู้จากครูผู้สอนที่ต่างกัน เราได้สรุปมาเป็นตารางเปรียบเทียบ Requirement ที่ต้องทำในการสอบเลเวลเริ่มต้นของแต่ละสถาบันมาให้พิจารณาค่ะ

ตารางเปรียบเทียบหลักสูตรดำน้ำ

อยากดำน้ำ Freediving ต้องเตรียมงบประมาณเท่าไร ?

ก่อนที่เราจะออกไปดำน้ำใต้ท้องทะเล เราควรจะลงคอร์สเรียน เรียนรู้วิธีการที่ถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งราคาคอร์สเรียนของแต่ละสถาบัน แต่ละสถานที่ก็จะแตกต่างกันออกไป หากเรียนแบบเบสิคในสระว่ายน้ำ ไม่มีการสอบทำสกิลในทะเล ราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ประมาณ 4,500 +- บาท หากเรียนเป็นเลเวลที่มีออกสอบภาคทะเล ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 6,500-10,000 บาท รวมค่าเรียน ค่าออกบัตรดำน้ำ และค่าเช่าอุปกรณ์ขณะเรียน การดำน้ำแบบ Freediving จะมีเพียงอุปกรณ์ที่จำเป็นเพียง 3 ชิ้นเท่านั้น คือ หน้ากาก ท่อหายใจ และฟิน ถ้าเราต้องการซื้ออุปกรณ์เป็นของตัวเอง เราสามารถเลือกตามความชอบและงบประมาณที่มี โดยราคาหน้ากากเริ่มต้นที่ประมาณ 1,000 บาท Snorkel ราคาเริ่มต้นประมาณ 350 บาท และฟินจะมีหลายวัสดุ โดยพลาสติกราคาเริ่มต้นประมาณ 3,000-4,000บาท ไฟเบอร์กลาสราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 7,000บาท และคาร์บอนไฟเบอร์ จะมีราคาสูงที่สุดอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาทขึ้นไป

การดำน้ำลึก (Scuba diving)

Scuba diving (Self-Contained Underwater Breathing Apparatus) คือการดำน้ำลึกที่จะมีอุปกรณ์ช่วยหายใจติดตัวไปกับนักดำน้ำ ทำให้เราสามารถหายใจเมื่ออยู่ใต้น้ำได้เป็นระยะเวลานานกว่าการดำน้ำแบบ Freediving เราจะสามารถใกล้ชิดธรรมชาติ ชมความงามของหมู่ปลา ปะการัง และสัตว์ต่างๆใต้ท้องทะเลได้อย่างเต็มที่ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสันทนาการที่นอกจากจะได้ความเพลิดเพลิน ความสงบ เรายังจะได้พบเจอกับอะไรที่แปลกใหม่ในทุกครั้งถึงแม้ว่าเราไปในจุดเดิม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของธรรมชาติใต้ทะเล การดำน้ำ Scuba diving สามารถเริ่มเรียนได้ตั้งแต่เด็กอายุ 10 ปีขึ้นไป หรือแม้คนที่ว่ายน้ำไม่เป็นก็สามารถเรียนได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะจมน้ำ เพราะการดำน้ำแบบ Scuba จะมีอุปกรณ์หลายอย่าง ที่ทำให้เราบังคับตัวเองให้จมหรือลอยในน้ำได้ เพียงแค่เรามาเรียนรู้วิธีการใช้อุปกรณ์และวิธีการดำน้ำ เราก็จะสามารถสัมผัสความงดงามของท้องทะเลลึกได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย

อุปกรณ์ในการดำน้ำ Scuba diving

การดำน้ำ scuba จะมีอุปกรณ์ที่สำคัญหลายชิ้น ซึ่งจะแตกต่างจากการดำน้ำแบบ snorkeling หรือ freediving ซึ่งจะมีอุปกรณ์หลักที่สำคัญทั้งหมด 7 ชิ้น

1. ถังอากาศ (Tank) เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดในการดำน้ำ Scuba เลยก็ว่าได้ เป็นถังที่บรรจุอากาศแบบเดียวกันกับที่เราหายใจบนบก ซึ่งมีปริมาณไนโตรเจน 78% กับออกซิเจน21% โดยถังอากาศจะทำให้เราสามารถหายใจและอยู่ใต้น้ำได้นานถึง 45-50 นาทีจนกว่าอากาศในถังจะหมด

ถังอากาศดำน้ำ

2. หน้ากากดำน้ำ (Mask) เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำเข้าดวงตาและจมูกจากน้ำทะเล และยังช่วยให้เรามองเห็นความสวยงามของโลกใต้ทะเล ซึ่งหน้ากากดำน้ำจะมีหลายแบบ หลายขนาด และวัสดุที่แตกต่างกัน ควรเลือกขนาดให้เหมาะสมและกระชับกับใบหน้า

หน้ากากดำน้ำ

3. ตีนกบ (Fin) หรือฟินเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการเคลื่อนที่ใต้น้ำให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันมีฟินให้เลือกมากมาย ทั้งวัสดุ ขนาด รูปทรงที่แตกต่างกันออกไป โดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ลักษณะของใบ และลักษณะของการสวมใส่ โดยลักษณะของใบจะแบ่งย่อยอีก 2 แบบ คือ

Paddle เป็นฟินใบเต็มใบเดียวที่ใช้กันมาช้านานคู่กับการกำเนิด Scuba diving เลยก็ว่าได้ โดยมีการพัฒนาวัสดุ ส่วนประกอบย่อยต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ฟินแบบ paddle จะสามารถใช้กับท่าการตีฟินได้ทุกท่า สู้กระแสน้ำได้ดี แต่อาจจะต้องใช้กำลังขามากกว่าฟินแบบ Split

Split เป็นฟินใบแยกกำเนิดขึ้นโดยการออกแบบของ Nature’s Wing เมื่อราวปลายทศวรรษ 1990 เป็นฟินที่ทำให้เราใช้กำลังขาน้อยกว่า จึงประหยัดอากาศที่ใช้ แต่จะไม่เหมาะกับการสู่กระแสน้ำ หรือท่าการตีฟินบางท่า ลักษณะในการสวมใส่ก็แบ่งเป็นอีก 2 ลักษณะ คือ

1) Full-foot จะลู่น้ำและไม่มีสายรัดทำให้ลดแรงต้านของน้ำ กระชับเท้า มีประสิทธิภาพในการถ่ายเทแรงจากเท้าสู่ฟินสูง ทำให้ประหยัดแรง และราคาถูกไม่ต้องซื้อบูทเพิ่ม

2) Open-Heel จะใส่ง่าย ถอดง่าย เพียงดึงสายรัดให้แน่นหรือปลดล็อค และต้องใส่บูทดำน้ำข้างใน จึงช่วยเพิ่มความอบอุ่นแก่เท้าขณะดำน้ำ และสามารถเดินลงจากชายหาดที่มีก้อนหินหรือซากปะการังได้โดยไม่เจ็บเท้า หากเราดำน้ำแบบ Shore dive

ตีนกบ

4. Wetsuit  เป็นชุดในการดำน้ำ เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกายเมื่ออยู่ในน้ำเป็นเวลานาน ปกป้องผิวของเราจากแตนทะเล แมงกะพรุน สัตว์มีพิษต่างๆ และปะการัง โดยเราควรเลือกความหนาของชุดให้เหมาะสมกับอุณหภูมิของน้ำ ขนาดชุดควรพอดีตัว ให้น้ำเข้าไปในชุดน้อยที่สุดเพื่อป้องกันการสูญเสียความอบอุ่นจากร่างกาย

ชุดดำน้ำ

5. BCD (Buoyancy Control Device) หรืออุปกรณ์ควบคุมการลอย/จมของนักดำน้ำโดยการเติมลมหรือปล่อยลม ควบคู่กับการหายใจ จะทำให้เราสามารถอยู่ใต้น้ำได้อย่างสมดุลย์ (Neutral Buoyancy)

กระเป๋าดำน้ำ

6. Regulator เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ต่อกับถังอากาศเพื่อจ่ายอากาศให้กับนักดำน้ำ และเป็นตัวลดแรงดันอากาศสูงๆในถังอากาศให้เหมาะสมกับการหายใจใต้น้ำ อีกทั้งมีตัวทำหน้าที่วัดปริมาณอากาศที่เหลืออยู่ในถัง ซึ่งสายของ regulator จะมีอยู่ 2 เส้น คือ เส้นหลักเพื่อใช้หายใจ  และเส้นรองสำหรับไว้แชร์อากาศกับบัดดี้ในเหตุการณ์ฉุกเฉิน

สาย Regulator ดำน้ำ

7. Divecomputer หรือนาฬิกาดำน้ำ เป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือในการคำนวณเรื่องความปลอดภัย และติดตามการดำน้ำของเรา บอกทั้งความลึก อุณหภูมิ เวลา และข้อมูลต่างๆ คอยเตือนระยะเวลาที่ปลอดภัยในการดำน้ำเพื่อป้องกันการเกิดอันตรายต่างๆ สามารถดูข้อมูลการดำน้ำย้อนหลังของเราได้

นาฬิกาดำน้ำ

อยากดำน้ำแบบ Scuba diving ต้องทำอย่างไร ?

ปัจจุบันมีโรงเรียนสอนดำน้ำ Scuba เปิดทำการหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด และหลักสูตรดำน้ำของสถาบันที่นิยมเปิดสอนในไทยจะมีหลักๆ อยู่ 2 สถาบันคือ PADI และ SSI

PADI – ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1966 เป็นสถาบันดำน้ำที่เป็นที่นิยมและมีนักดำน้ำถือบัตรของ PADI มากที่สุดในโลก

SSI – ก่อตั้งเมื่อปีค.ศ.1970 เป็นองค์กรแรกที่นำเสนอหลักสูตรการสอนที่ครบถ้วนรวมถึงวิดีโอ และบุกเบิกพื้นที่ต่างๆเพื่อนำเสนอหลักสูตรสอนดำน้ำ

โครงสร้างหลักสูตรดำน้ำ

ทั้ง 2 สถาบันได้การรับรองจาก ISO (International Organization for Standardization) และ WRSTC (World Recreational Scuba Training Council) ทั้งคู่ จึงเป็นมาตรฐานในการใช้เรียนและสอนได้ทั่วโลก เนื้อหาในการสอนภาคทฤษฎีและปฏิบัติจะสอนในเรื่องเดียวกันเกือบทั้งหมด ระยะเวลาในการเรียนเท่ากัน ไม่ว่าจะจบหลักสูตรจากที่ใดก็สามารถดำน้ำได้ทั่วโลกเช่นเดียวกัน แต่จะแตกต่างกันที่ราคา ซึ่ง PADI จะมีราคาที่สูงกว่าของ SSI ในหลักสูตรการสอน SSI มีหลักสูตร Online ฟรี ส่วน PADI จะต้องเสียเงินเพิ่ม และใบรับรอง (Certification) ของ PADI จะต้องรอให้ครูผู้สอนส่งข้อมูลเข้าระบบ หลังจากนั้นจึงจะได้รับบัตร PADI certification ทางไปรษณีย์ส่งมาที่บ้าน ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ในขณะเดียวกันครูผู้สอนหรือ diving center จะให้บัตรดำน้ำชั่วคราวมาก่อน ส่วนของ SSI จะได้รับใบรับรองทันทีในแอพพลิเคชันของ SSI ผู้ที่สนใจเรียนดำน้ำสามารถติดต่อสอบถามแต่ละโรงเรียนที่เปิดสอนได้เลยว่าใช้หลักสูตรใด

อยากดำน้ำแบบ Scuba diving ต้องเตรียมงบประมาณเท่าไร ?

สำหรับผู้ที่ต้องการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ พร้อมไปสัมผัสบรรยากาศใต้น้ำ เริ่มดำน้ำ scuba ในคอร์สแรกหรือ Open Water Diver ราคาคอร์สจะอยู่ที่ประมาณ 13,000 – 16,000 บาท ขึ้นอยู่กับสถานที่และสถาบันที่เรียนในราคานี้จะรวมค่าเรียน ค่าอุปกรณ์ในระหว่างเรียน ค่าออกบัตรดำน้ำ ค่าเรือ ฯลฯ และในขั้น Advance ค่าเรียนจะถูกลงกว่าในขั้น Open water ส่วนในด้านของอุปกรณ์นั้น อุปกรณ์การดำน้ำของ Scuba จะมีหลายชิ้นและมีราคาที่สูง เวลาไปออกทริปเราสามารถเช่าอุปกรณ์กับทางร้านดำน้ำครบเซ็ทเป็นรายวันได้ โดยค่าเช่าอุปกรณ์จะอยู่ที่ประมาณ 500-800 บาท/วัน

ข้อควรระวังในการดำน้ำลึก

การดำน้ำดูปะการังถึงแม้จะเป็นกิจกรรมที่สร้างความเพลิดเพลินสนุกสนาน ผ่อนคลาย แต่ก็ควรคำนึงถึงความปลอดภัยและข้อควรระวังที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของนักดำน้ำอีกด้วย ซึ่งโรคภัยและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้กับการดำน้ำลึกมีดังนี้

1. Decompression sickness (DCS)

หรือโรคBend/โรคน้ำหนีบ เกิดจากการที่ร่างกายมีก๊าซไนโตรเจนมากเกินไป อากาศปกติที่เราหายใจกันบนผิวน้ำ จะมีไนโตรเจน 79% และออกซิเจน 21% แต่บนบกนั้นความกดอากาศเป็นปกติเราจึงไม่มีการสะสมของไนโตรเจน แต่เมื่อเราดำลงสู่ความลึกใต้น้ำ ร่างกายของเราได้รับไนโตรเจนภายใต้แรงกดดันจนเกิดภาวะอิ่มตัว (Saturation) และพอเมื่อเรากลับขึ้นสู่ผิวน้ำ ฟองไนโตรเจนที่สะสมอยู่จึงขยายตัวและสะสมในเลือดและเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย หากไนโตรเจนมากเกินกว่าที่ร่างกายจะกำจัดได้ ก็จะไปสะสมตามข้อต่อต่างๆ ทำให้เกิดอาการปวดตามข้อ หรืออาจไปขวางทางเดินของเส้นเลือดทำให้เกิดสภาวะอัมพาต (paralysis) ได้ เพราะเหตุนี้เราจึงไม่ควรขึ้นเครื่องบินหลังจากดำน้ำลึก ควรมีเวลาพักน้ำอย่างน้อย 18 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายขจัดไนโตรเจนออกจนหมดก่อน

2. ภาวะเมาไนโตรเจน (Nitrogen narcosis)

เมื่อดำน้ำในระดับที่ลึกแรงกดดันที่มากขึ้นทำให้ไนโตรเจนแทรกเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย จึงส่งผลทำให้เกิดภาวะเมาไนโตรเจน จะมีอาการคล้ายคนเมาแอลกอฮอล์ มึนงง เคลิบเคลิ้ม ไม่มีสมาธิ หรืออาจหมดสติ การหลีกเลี่ยงคือไม่ควรดำน้ำลึกเกินไป ไม่ควรดำน้ำคนเดียว ควรมีบัดดี้คอยช่วยดูแลกันเสมอ หากเกิดอาการเมาไนโตรเจน ควรค่อยๆ ขึ้นมา เพื่อลดระดับความลึกในความเร็วที่เหมาะสม

3. ภาวะถุงลมปอดฉีก

หากเราหายใจออกไม่เพียงพอหรือกลั้นหายใจขณะขึ้นสู่ผิวน้ำ ปริมาตรอากาศในปอดที่เพิ่มขึ้นจากการลดของความดันอากาศ ก็จะนำไปสู่การฉีกขาดของถุงลมปอดได้ และหากถุงลมปอดฉีกขาด อาจจะมีการฉีกขาดของเส้นเลือดฝอยที่ห่อหุ้มถุงลมนั้น ทำให้ฟองอากาศไหลกลับเข้าหัวใจและวิ่งไปสู่สมองได้ นำไปสู่ภาวะลมรั่วในช่องอก (Pneumothorax) ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

4. การบาดเจ็บจากการเปลี่ยนแปลงความกดดันบรรยากาศ (Barotrauma)

คือการที่ก๊าซซึมเข้าสู่ช่องว่างหรือโพรงอากาศในร่างกาย ทำให้เนื้อเยื่อเสียหายหรือบาดเจ็บ มีตั้งแต่อาการบาดเจ็บต่อหูชั้นกลาง หูชั้นใน โพรงไซนัส ฯลฯ ไปจนถึงอากาศภายในปอดอุดตันระบบไหลเวียนเลือดจนรบกวนการทำงานของระบบประสาท

ธรรมชาติใต้ทะเล

อันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดจากการดำน้ำ เราสามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันได้ โดยทำตามคำแนะนำในการดำน้ำจากผู้เชี่ยวชาญ เตรียมร่างกายให้พร้อม แข็งแรงและสมบูรณ์ ห้ามดำน้ำหลังการฉีดยา ถอนฟัน และหลังหายจากอาการเจ็บป่วยใหม่ๆ รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายใน 8 ชม.

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถมาเรียนรู้วิธีการดำน้ำและการใช้งานอุปกรณ์ให้ถูกต้องและปลอดภัยกับ Amity ได้เลยค่ะ เรามีคุณครูผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำลึกคอยสอน ให้คำแนะนำและดูแลตลอดทริป อุปกรณ์ที่ใช้ผ่านการทำความสะอาดทุกครั้งและตรวจเช็คคุณภาพเป็นประจำเพื่อความปลอดภัยของทุกคน หากเรียนมาแล้วอยากไปชมธรรมชาติใต้ทะเลสวยๆ สามารถไปออกทริปกับเราได้เลย มีทั้ง Daytrip และ Liveaboard รับรองว่าเพื่อนๆ จะได้รับประสบการณ์ที่ดี มิตรภาพใหม่ๆ และความประทับใจจากโลกใต้ทะเลและทีมงาน Amity กลับไปแน่นอน

Chat with us
via WhatsApp